ภาษายีราฟ คืออะไร?
…และทำไมจึงสำคัญกับลูกวัยอนุบาลของเรา
โดย อ.นริศ มณีขาว
CNVC (Center for Nonviolent Communication) Certification Candidate Trainer
“หัวใจของเด็กเล็กต้องการการฟัง ไม่ใช่การตัดสิน” ภาษายีราฟ คือภาษาที่ใช้หัวใจสื่อสารในหัวใจ การพูด และการฟัง
ในวัยอนุบาล เด็กเล็กยังไม่สามารถอธิบายความรู้สึก ความคิด หรือความต้องการของตัวเองได้ชัดเจน บางครั้งจึงแสดงออกด้วยการร้องไห้ งอแง ขัดขืน หรือเงียบไปเฉย ๆ สิ่งที่เด็กต้องการจริง ๆ ไม่ใช่คำสั่ง ไม่ใช่คำสอนทันที แต่คือการที่ “มีใครสักคนฟังเขาด้วยความเข้าอกเข้าใจ”
“ภาษายีราฟ” จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณครูและผู้ใหญ่ เข้าใจเด็กอย่างแท้จริง เชื่อมโยงความรู้สึกของเขา และช่วยให้เขาเติบโตด้วยความมั่นใจและความรัก
ภาษายีราฟ คืออะไร?
“ภาษายีราฟ” มาจากแนวคิดของการสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication – NVC) สร้างสรรค์โดย ดร.มาแชล โรเซนเบิร์ก เป็นภาษาที่ไม่ใช่แค่พูด แต่เป็นการสื่อสารที่มองเห็น “หัวใจของอีกฝ่าย” ใช้การฟังและพูดอย่างเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ไม่ตัดสิน ไม่ตำหนิ ไม่ประชด
ยีราฟเป็นสัตว์บกที่มีหัวใจใหญ่ที่สุด และมีคอยาวที่มองเห็นภาพรวมได้ไกล ภาษายีราฟจึงหมายถึงการ “พูดจากใจ ฟังจากใจ และมองเห็นภาพรวมของความรู้สึกและความต้องการของทุกคน”
ภาษายีราฟมีประโยชน์อย่างไร?
• พัฒนาการด้านอารมณ์: เด็กรู้จักและเข้าใจอารมณ์ของตัวเองเพิ่มมากขึ้น
• พัฒนาความสัมพันธ์: เด็กเรียนรู้ว่าความรู้สึกและความต้องการของตนเอง และผู้อื่นก็มีความรู้สึก ความต้องการเช่นเดียวกัน
• พัฒนาด้านพฤติกรรม: เด็กตอบสนองอย่างนุ่มนวลมากขึ้น ลดการโวยวายหรือความรุนแรง
• พัฒนาการเรียนรู้: เด็กกล้าแสดงออก เพราะรู้สึกปลอดภัยและได้รับความเคารพ
• สนับสนุนครูและผู้ปกครอง: ครูและผู้ปกครองมีวิธีพูดเพื่อส่งเสริมกำลังใจเด็กแทนการบั่นทอนจิตใจ และเข้าใจความต้องการเบื้องหลังการแสดงออกหรือพฤติกรรมของเด็ก
ตัวอย่างการฟังและพูดด้วยภาษายีราฟกับเด็กอนุบาล
สถานการณ์ 1: เด็กผลักเพื่อน
“ครูเห็นหนูผลักเพื่อนนะคะ (Observation)
ครูรู้สึกเป็นห่วง (Feeling) เพราะอยากให้ทุกคนปลอดภัย (Need)
ถ้าหนูโกรธ ครูขอให้หนูลองบอกเพื่อนด้วยคำพูดนะคะ (Request)
ถ้าหนูไม่อยากพูดเอง ครูช่วยพูดให้ได้นะลูก”
สถานการณ์ 2: เด็กไม่อยากทำกิจกรรม
“ครูเห็นว่าหนูไม่ระบายสี
หนูรู้สึกเบื่อใช่ไหมคะ?
หนูอยากพักก่อนใช่ไหมคะ หรืออยากให้ครูช่วยระบายสีด้วยกันไหมลูก?”
สถานการณ์ 3: เด็กร้องไห้เสียงดัง
“หนูกำลังเสียใจมากใช่ไหมลูก
มีอะไรทำให้หนูเสียใจเหรอคะ
ครูอยู่ตรงนี้นะ พร้อมฟังหนู ถ้าอยากเล่าให้ฟัง หนูบอกครูได้นะคะ”
เพราะเด็ก…ต้องการและรอให้ผู้ใหญ่รับฟังด้วยความเข้าอกเข้าใจ
เมื่อโรงเรียนอนุบาลใช้ภาษายีราฟในโรงเรียน เด็กจะไม่เพียงเรียนรู้วิชาการเท่านั้น
แต่เด็กกำลังเรียนรู้การเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจอ่อนโยน เข้าใจตนเอง และเข้าใจผู้อื่น (Empathy)
“ภาษายีราฟ คือภาษาที่ปลูกต้นไม้แห่งความรัก ความเข้าใจ และสันติในจิตใจของเด็กทุกคน”
โรงเรียนแห่งความเข้าใจ
โรงเรียนของเรากำลังส่งเสริมการใช้ “ภาษายีราฟ” ในการดูแลเด็ก การเรียนในห้องเรียน ฯลฯ เพื่อสร้างบรรยากาศในโรงเรียนให้อบอุ่น ปลอดภัย และเต็มไปด้วยความสัมพันธ์ที่ดี ส่งเสริมการเติบโตทางกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคมของเด็กทุกคน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
• Rosenberg, Marshall B. Nonviolent Communication: A Language of Life. PuddleDancer Press, 2003.
• Center for Nonviolent Communication (CNVC). www.cnvc.org
• Rosenberg, M. B. (2003). Life-enriching education: Nonviolent communication helps schools improve performance, reduce conflict, and enhance relationships. PuddleDancer Press.
• Rosenberg, M. B. (2004). Raising children compassionately: Parenting the Nonviolent Communication way. PuddleDancer Press.
• Rosenberg, M. B. (2004). Teaching children compassionately: How students and teachers can succeed with mutual understanding. PuddleDancer Press.
• Hart, S., & Hodson, V. K. (2004). The compassionate classroom: Relationship based teaching and learning. PuddleDancer Press.
• Hart, S., & Hodson, V. K. (2006). Respectful parents, respectful kids: 7 keys to turn family conflict into cooperation. PuddleDancer Press.
• Kashtan, I. (2004). Parenting from your heart: Sharing the gifts of compassion, connection, and choice. PuddleDancer Press.
• Hart, S., & Hodson, V. K. (2008). The no-fault classroom: Tools to resolve conflict & foster relationship intelligence. PuddleDancer Press.