ภาษายีราฟ คืออะไร? และทำไมจึงสำคัญกับลูกวัยอนุบาลของเรา

article

ภาษายีราฟ คืออะไร?
…และทำไมจึงสำคัญกับลูกวัยอนุบาลของเรา
โดย อ.นริศ มณีขาว 
CNVC (Center for Nonviolent Communication) Certification Candidate Trainer

“หัวใจของเด็กเล็กต้องการการฟัง ไม่ใช่การตัดสิน” ภาษายีราฟ คือภาษาที่ใช้หัวใจสื่อสารในหัวใจ การพูด และการฟัง
ในวัยอนุบาล เด็กเล็กยังไม่สามารถอธิบายความรู้สึก ความคิด หรือความต้องการของตัวเองได้ชัดเจน บางครั้งจึงแสดงออกด้วยการร้องไห้ งอแง ขัดขืน หรือเงียบไปเฉย ๆ สิ่งที่เด็กต้องการจริง ๆ ไม่ใช่คำสั่ง ไม่ใช่คำสอนทันที แต่คือการที่ “มีใครสักคนฟังเขาด้วยความเข้าอกเข้าใจ”

“ภาษายีราฟ” จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณครูและผู้ใหญ่ เข้าใจเด็กอย่างแท้จริง เชื่อมโยงความรู้สึกของเขา และช่วยให้เขาเติบโตด้วยความมั่นใจและความรัก
ภาษายีราฟ คืออะไร?
“ภาษายีราฟ” มาจากแนวคิดของการสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication – NVC) สร้างสรรค์โดย ดร.มาแชล โรเซนเบิร์ก เป็นภาษาที่ไม่ใช่แค่พูด แต่เป็นการสื่อสารที่มองเห็น “หัวใจของอีกฝ่าย” ใช้การฟังและพูดอย่างเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ไม่ตัดสิน ไม่ตำหนิ ไม่ประชด

ยีราฟเป็นสัตว์บกที่มีหัวใจใหญ่ที่สุด และมีคอยาวที่มองเห็นภาพรวมได้ไกล ภาษายีราฟจึงหมายถึงการ “พูดจากใจ ฟังจากใจ และมองเห็นภาพรวมของความรู้สึกและความต้องการของทุกคน”
ภาษายีราฟมีประโยชน์อย่างไร?

• พัฒนาการด้านอารมณ์: เด็กรู้จักและเข้าใจอารมณ์ของตัวเองเพิ่มมากขึ้น
• พัฒนาความสัมพันธ์: เด็กเรียนรู้ว่าความรู้สึกและความต้องการของตนเอง และผู้อื่นก็มีความรู้สึก ความต้องการเช่นเดียวกัน
• พัฒนาด้านพฤติกรรม: เด็กตอบสนองอย่างนุ่มนวลมากขึ้น ลดการโวยวายหรือความรุนแรง
• พัฒนาการเรียนรู้: เด็กกล้าแสดงออก เพราะรู้สึกปลอดภัยและได้รับความเคารพ
• สนับสนุนครูและผู้ปกครอง: ครูและผู้ปกครองมีวิธีพูดเพื่อส่งเสริมกำลังใจเด็กแทนการบั่นทอนจิตใจ และเข้าใจความต้องการเบื้องหลังการแสดงออกหรือพฤติกรรมของเด็ก
ตัวอย่างการฟังและพูดด้วยภาษายีราฟกับเด็กอนุบาล

สถานการณ์ 1: เด็กผลักเพื่อน
“ครูเห็นหนูผลักเพื่อนนะคะ (Observation)
ครูรู้สึกเป็นห่วง (Feeling) เพราะอยากให้ทุกคนปลอดภัย (Need)
ถ้าหนูโกรธ ครูขอให้หนูลองบอกเพื่อนด้วยคำพูดนะคะ (Request)
ถ้าหนูไม่อยากพูดเอง ครูช่วยพูดให้ได้นะลูก”
สถานการณ์ 2: เด็กไม่อยากทำกิจกรรม
“ครูเห็นว่าหนูไม่ระบายสี
หนูรู้สึกเบื่อใช่ไหมคะ?
หนูอยากพักก่อนใช่ไหมคะ หรืออยากให้ครูช่วยระบายสีด้วยกันไหมลูก?”
สถานการณ์ 3: เด็กร้องไห้เสียงดัง
“หนูกำลังเสียใจมากใช่ไหมลูก
มีอะไรทำให้หนูเสียใจเหรอคะ
ครูอยู่ตรงนี้นะ พร้อมฟังหนู ถ้าอยากเล่าให้ฟัง หนูบอกครูได้นะคะ”

เพราะเด็ก…ต้องการและรอให้ผู้ใหญ่รับฟังด้วยความเข้าอกเข้าใจ

เมื่อโรงเรียนอนุบาลใช้ภาษายีราฟในโรงเรียน เด็กจะไม่เพียงเรียนรู้วิชาการเท่านั้น 
แต่เด็กกำลังเรียนรู้การเป็นมนุษย์ที่มีหัวใจอ่อนโยน เข้าใจตนเอง และเข้าใจผู้อื่น (Empathy)

“ภาษายีราฟ คือภาษาที่ปลูกต้นไม้แห่งความรัก ความเข้าใจ และสันติในจิตใจของเด็กทุกคน”
โรงเรียนแห่งความเข้าใจ

โรงเรียนของเรากำลังส่งเสริมการใช้ “ภาษายีราฟ” ในการดูแลเด็ก การเรียนในห้องเรียน ฯลฯ เพื่อสร้างบรรยากาศในโรงเรียนให้อบอุ่น ปลอดภัย และเต็มไปด้วยความสัมพันธ์ที่ดี ส่งเสริมการเติบโตทางกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคมของเด็กทุกคน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
• Rosenberg, Marshall B. Nonviolent Communication: A Language of Life. PuddleDancer Press, 2003.
• Center for Nonviolent Communication (CNVC). www.cnvc.org
• Rosenberg, M. B. (2003). Life-enriching education: Nonviolent communication helps schools improve performance, reduce conflict, and enhance relationships. PuddleDancer Press.
• Rosenberg, M. B. (2004). Raising children compassionately: Parenting the Nonviolent Communication way. PuddleDancer Press.
• Rosenberg, M. B. (2004). Teaching children compassionately: How students and teachers can succeed with mutual understanding. PuddleDancer Press.
• Hart, S., & Hodson, V. K. (2004). The compassionate classroom: Relationship based teaching and learning. PuddleDancer Press.
• Hart, S., & Hodson, V. K. (2006). Respectful parents, respectful kids: 7 keys to turn family conflict into cooperation. PuddleDancer Press.
• Kashtan, I. (2004). Parenting from your heart: Sharing the gifts of compassion, connection, and choice. PuddleDancer Press.
• Hart, S., & Hodson, V. K. (2008). The no-fault classroom: Tools to resolve conflict & foster relationship intelligence. PuddleDancer Press.