สื่อสารอย่างสันติ (NVC) คืออะไร? …และทำไมจึงสำคัญกับลูก ๆ วัยอนุบาลของเรา
โดย อ.นริศ มณีขาว
CNVC (Center for Nonviolent Communication) Certification Candidate Trainer
“เด็กเล็กอาจลืมว่าเราสอนอะไร แต่เขาจะไม่ลืมว่าเขารู้สึกอย่างไร เวลาที่เราอยู่กับเขา”
ในโลกของเด็กวัยอนุบาล “ความรู้สึก” และ “ความสัมพันธ์” สำคัญมากพอ ๆ กับการเรียนรู้เรื่องตัวอักษรหรือการนับเลข เพราะนี่คือวัยที่หัวใจของเด็กกำลังก่อตัวขึ้นว่า โลกนี้ปลอดภัยไหม? ฉันมีคุณค่าไหม? ผู้ใหญ่เข้าใจฉันหรือเปล่า?
หนึ่งในวิธีสำคัญที่สุดที่ช่วยตอบ “คำถามในใจ” ของเด็กได้ คือ การใช้การสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication: NVC) หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “ภาษายีราฟ” (Giraffe Language — ภาษาแห่งการเชื่อมโยงหัวใจระหว่างกัน
สื่อสารอย่างสันติ (NVC) คืออะไร?
สื่อสารอย่างสันติ คือรูปแบบการสื่อสารที่เน้น:
• การเชื่อมความสัมพันธ์ด้วยความกรุณาและเข้าอกเข้าใจ
• การพูดและฟังอย่างตั้งใจ ให้ความเข้าใจความรู้สึกและความต้องการ
• การสื่อสารที่เน้นความเข้าใจ โดยไม่ตัดสิน ตำหนิ เปรียบเทียบ หรือบังคับกดดัน
NVC ช่วยให้เด็กและผู้ใหญ่:
- กล้าสื่อสาร
- เข้าใจความรู้สึกตัวเอง
- แสดงออกอย่างเคารพผู้อื่น
- และค่อย ๆ เติบโตเป็นคนที่ “พูดด้วยความรัก และฟังด้วยความเข้าใจ”
ทำไม NVC ถึงสำคัญกับเด็กอนุบาล?
เพราะเด็กวัยนี้ยังใช้คำพูดสื่อสารอารมณ์ได้น้อย แต่เต็มไปด้วยความรู้สึก ความต้องการ และพลังในใจที่รอให้ผู้ใหญ่ "ฟังให้เข้าถึงจิตใจ" ของเด็ก
เมื่อเราพูดกับเด็กด้วยความรัก ความเข้าใจ และภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ประเมิน ตัดสิน ตำหนิ และเห็นคุณค่า เรากำลังส่งข้อความสำคัญไปถึงหัวใจของเขาว่า “หนูมีคุณค่า หนูมีตัวตน และหนูไม่ผิดที่รู้สึกแบบนี้”
ตัวอย่างการใช้ NVC กับเด็กอนุบาล
• สถานการณ์: เด็กผลักเพื่อน
สังเกต (Observation): "ครูเห็นหนูผลักเพื่อนนะคะ"
รู้สึก (Feeling): "ครูรู้สึกเป็นห่วง"
ต้องการ (Need): "เพราะครูอยากให้ทุกคนปลอดภัย"
ขอร้อง (Request): "ถ้าหนูโกรธ หนูลองพูดกับเพื่อนแทนการผลักได้ไหมคะ"
• สถานการณ์: เด็กไม่อยากทำกิจกรรม
"ครูเห็นหนูระบายสี"
“ครูเข้าใจว่าหนูคงไม่อยากทำตอนนี้ใช่ไหมลูก”
“หนูอยากพักก่อน หรืออยากให้ครูช่วยหนูระบายสีคะ?”
ประโยชน์ของ NVC สำหรับเด็กอนุบาล
1. พัฒนาด้านอารมณ์: เด็กรู้จักอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองและคนอื่นเพิ่มมากขึ้น
2. พัฒนาความสัมพันธ์: เด็กเข้าใจว่าเราสามารถฟังและพูดกันได้ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง
3. พัฒนาความมั่นใจ: เด็กรู้ว่าเขามีคุณค่า แม้ในวันที่ทำผิดหรือไม่สมบูรณ์
4. พัฒนาการเรียนรู้: เด็กเรียนรู้ดีขึ้นเมื่อรู้สึกปลอดภัยและได้รับความเข้าใจ
โรงเรียนที่มีการสื่อสารอย่างสันติ NVC เป็นโรงเรียนแห่งความสุข
ครอบครัวที่มีการสื่อสารอย่างสันติ เป็นครอบครัวแห่งความสุขเช่นกัน
การสื่อสารอย่างสันติ คือเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เป้าหมายของโรงเรียน เต็มไปด้วยความรัก ความเข้าใจ และความสุขเป็นจริงได้ เริ่มต้นได้จากการฟัง… และพูด… ด้วยความเข้าใจ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
• Rosenberg, Marshall B. Nonviolent Communication: A Language of Life. PuddleDancer Press, 2003.
• Center for Nonviolent Communication (CNVC). www.cnvc.org
• Rosenberg, M. B. (2003). Life-enriching education: Nonviolent communication helps schools improve performance, reduce conflict, and enhance relationships. PuddleDancer Press.
• Rosenberg, M. B. (2004). Raising children compassionately: Parenting the Nonviolent Communication way. PuddleDancer Press.
• Rosenberg, M. B. (2004). Teaching children compassionately: How students and teachers can succeed with mutual understanding. PuddleDancer Press.
• Hart, S., & Hodson, V. K. (2004). The compassionate classroom: Relationship based teaching and learning. PuddleDancer Press.
• Hart, S., & Hodson, V. K. (2006). Respectful parents, respectful kids: 7 keys to turn family conflict into cooperation. PuddleDancer Press.
• Kashtan, I. (2004). Parenting from your heart: Sharing the gifts of compassion, connection, and choice. PuddleDancer Press.
• Hart, S., & Hodson, V. K. (2008). The no-fault classroom: Tools to resolve conflict & foster relationship intelligence. PuddleDancer Press.