(How to manage your child’s separation anxiety)
ข้อควรทราบในการสนับสนุนเจ้าตัวน้อย
การใช้เวลาอยู่ห่างจากลูกของคุณอาจทำให้ทั้งตัวคุณเองและลูกของคุณเกิดความทุกข์ทรมานขึ้นได้ บางครั้งแค่การพูดกล่าวลา อาจทำให้ลูกของคุณเกิดความรู้สึกวิตกกังวลได้ หัวข้อที่จะกล่าวต่อไปนี้คือบางสิ่งที่คุณควรสังเกต และเป็นวิธีที่คุณจะช่วยให้ลูกของคุณรับมือจัดการกับความรู้สึกที่ยากลำบากนี้ เพื่อที่จะได้รู้สึกปลอดภัยและมั่นคงขึ้น
อะไรคือ ความวิตกกังวลต่อการแยกจากของเด็ก
เรามักจะสังเกตเห็นความวิตกกังวลต่อการแยกจากของเด็ก ตั้งแต่อายุ 6 เดือนถึง 3 ปี เด็กตัวเล็ก ๆ ที่ยังอยู่ในวัยกำลังคลานอาจรู้สึกวิตกกังวล เมื่อพ่อแม่ หรือพี่เลี้ยงอยู่ห่างออกไปจากสายตาของพวกเขา ความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับได้เรียนรู้ว่าการอยู่ห่างออกไปดังกล่าวนั้น เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
อะไรคือสิ่งที่สามารถบ่งบอกว่าลูกของฉันอาจมีภาวะวิตกกังวลต่อการแยกจาก
สิ่งที่สังเกตเห็นง่ายที่สุดคือ การร้องไห้หาคุณเมื่อเด็กถูกนำไปส่งที่สถานรับเลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้สิ่งที่สังเกตเห็นมีอีกหลายประการ เช่น
- ลูกกลายเป็นมีความทุกข์มาก เมื่อคุณแยกจากเขา
- ร้องไห้หรือดูทุกข์ทรมานเมื่อเจอกับสถานการณ์ใหม่ ๆ (โดยเฉพาะเกิดในเด็ก อายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี)
- ปฏิเสธที่จะไปนอนโดยไม่มีคุณหรือผู้ดูแลอื่น ๆ มาอยู่ใกล้ ๆ
- การตื่นขึ้นมาร้องไห้เวลากลางคืน
การที่เด็กเล็กจะรู้สึกวิตกกังวลเมื่อไม่มีคุณหรือพี่เลี้ยงคอยอยู่ใกล้ ๆ เป็นเรื่องปรกติและธรรมชาติมาก สิ่งที่คุณควรปฏิบัติต่อพวกเขาจึงควรเต็มไปด้วยความอ่อนโยนและเห็นอกเห็นใจ
ฉันจะสามารถสนับสนุนช่วยเหลือลูกได้อย่างไรบ้าง
คุณไม่ควรจะรู้สึกผิด เมื่อจำเป็นต้องทิ้งลูกของคุณไว้เป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ให้โฟกัสต่อการช่วยเหลือลูกของคุณ ให้เรียนรู้วิธีการจัดการกับความรู้สึกของตัวพวกเขาเอง ในยามไม่มีคุณอยู่ใกล้ ซึ่งการกระทำแบบนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น
พูดถึงสิ่งที่คุณจะได้ทำร่วมกันหลังจากการแยกจาก
องค์ประกอบที่สำคัญที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลในเด็กเมื่อต้องแยกจากนั้น คือความรู้สึกที่ว่าพวกเขากลัวจะไม่ได้เจอคุณอีก การที่คุณได้คุยถึงแผนการทำอะไรด้วยกันหลังจากกลับมาเจอกัน จะช่วยลดความกลัวดังกล่าวได้ เช่น “หลังจากที่แม่ทำงานเสร็จแล้ว แม่จะกลับมารับนะ แล้วเราก็จะได้ไปที่สนามเด็กเล่นด้วยกัน ไปเล่นชิงช้าด้วยกันไง”
ฝึกแยกจากในระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะเริ่มนานขึ้น
ลองฝากลูกไว้กับเพื่อนผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ หรือญาติของคุณเอง เพื่อที่คุณจะได้ไปทำอย่างอื่นสั้น ๆ และลองสังเกตดูว่าเป็นอย่างไร การทำดังกล่าวจะช่วยให้ลูกของคุณค่อย ๆ ปรับตัวเข้าหาความรู้สึกเมื่อต้องแยกตัวออกไปอย่างช้า ๆ
ทิ้งของเล่นหรือผ้าห่มไว้กับลูกเพื่อช่วยบรรเทาการแยกจาก
ลูกของคุณมีของเล่นที่ชอบอยู่ไหม หากยังไม่มี ก็เป็นโอกาสที่ทำให้คุณได้ลองค้นหาดูว่าลูกชอบอะไร ของเล่นพิเศษดังกล่าวสามารถช่วยให้เด็กรู้สึกสบายใจได้ด้วยตัวเองเมื่อพวกเขาเริ่มรู้สึกใจเสีย
ปลอบใจลูกของคุณเมื่อพวกเขากลัว
เมื่อมีโอกาสอยู่ด้วยกันกับลูก ให้ลองฟังในสิ่งที่เขาสื่อสารออกมา คุณควรโต้ตอบด้วยความรู้สึกเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และพยายามให้ความสำคัญแม้กับความกังวลเล็กน้อยของพวกเขา ลองสังเกตสัญญาณต่าง ๆ ที่แสดงออกมาทางกายด้วย เช่นการงอแง หรือการเกาะติด เป็นต้น
เมื่อต้องมีพี่เลี้ยงคนใหม่
หากคุณต้องมีพี่เลี้ยงคนใหม่ไว้คอยช่วยเหลือ ให้หาโอกาสอยู่ร่วมกันทั้งสามคน ก่อนจะทิ้งให้เป็นภาระของพี่เลี้ยงตามลำพัง ด้วยการแนะนำพี่เลี้ยงใหม่แบบนี้จะทำให้เมื่อถึงเวลาที่ต้องทิ้งลูกไว้กับพี่เลี้ยง เด็กจะได้ไม่ต้องปรับตัวมาก
ทำการแยกจากให้รวดเร็วและเป็นไปในทางบวก
การร่ำลากัน ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากสำหรับเด็กเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ยากสำหรับพ่อหรือแม่ด้วย คุณควรใช้ความพยายามที่จะสงบนิ่งและเป็นไปในเชิงบวกในการร่ำลาเด็ก ๆ การส่งยิ้ม ก่อนจะบอกพวกเขาว่าคุณกำลังจะจากไปเพียงครู่เดียวก่อนจะกลับมารับ ต้องเป็นกระบวนการที่ไม่ยืดเยื้อ การกระทำแบบคงเส้นคงวาจะช่วยให้ลูกของคุณคุ้นเคยกับการรับส่งแบบสั้น ๆ และเป็นการแสดงให้พวกเขาเห็นว่าคุณจะกลับมารับเขาเสมอ